Oral Care Topic
สาเหตุของกลิ่นปาก

สาเหตุของกลิ่นปาก

  1. การไม่รักษาสุขภาพช่องปากให้ดี ก็ทำให้มีกลิ่นปากได้ เช่น แปรงฟันไม่สะอาดทำให้มีคราบอาหารหรือคราบแบคทีเรียมาเกาะอยู่ตามผิวฟัน ลิ้น หรือกระพุ้งแก้ม
  2. ลิ้นเป็นฝ้า สาเหตุหนึ่งของกลิ่นปาก ลิ้นที่เป็นฝ้านั้นเกิดจากการสะสมของเศษอาหารและแบคทีเรียบนผิวด้านบนของลิ้น
  3. น้ำลาย ก็มีส่วนทำให้เกิดกลิ่นปากได้ ถ้าหากน้ำลายน้อยก็จะชำระล้างเศษอาหารได้ไม่หมดจนทำให้เกิดกลิ่นปาก รวมไปถึงผู้ที่มีน้ำลายข้นเหนียวก็จะชำระล้างเศษอาหารได้ไม่ดีเท่าผู้ที่มีน้ำลายใส และนี่จึงเป็นสาเหตุที่ทำไมเมื่อตื่นนอนจึงมักมีกลิ่นปาก นั่นเป็นเพราะในขณะหลับจะมีการไหลเวียนของน้ำลายน้อย ดังนั้นถ้ารู้สึกว่าคอแห้งปากแห้งก็ให้ดื่มน้ำบ่อย ๆ
  4. หินปูน สาเหตุสำคัญของกลิ่นปาก หากมีหินปูนต้องให้ทันตแพทย์ขูดออก
  5. ฟันผุ จะทำให้เศษอาหารไปติดค้างอยู่ในรูฟันที่ผุจนเกิดการบูดเน่าและทำให้เกิดกลิ่น หรือผู้ที่มีฟันผุทะลุโพรงประสาทฟัน ทำให้มีหนองที่ปลายรากฟัน ซึ่งหนองพวกนี้จะมีกลิ่นเหม็นมาก
  6. แผลในช่องปาก เมื่อเป็นแผลจะทำให้เกิดกลิ่นปากได้ และเมื่อแผลหายกลิ่นปากก็จะลดลง นอกจากนี้ยังเกิดขึ้นได้ภายหลังการถอนฟันหรือการผ่าตัดในช่องปาก เนื่องจากขณะมีแผลผู้ป่วยจะใช้ฟันบดเคี้ยวอาหารได้ไม่ถนัด ทำให้มีอาหารติดฟันได้มากและง่ายขึ้น ส่วนแผลที่มีเลือดไหลซึมก็จะเป็นอาหารชั้นดีของเชื้อโรคในช่องปากจนทำให้เลือดมีกลิ่นเหม็นและเกิดการบูดเน่าของอาหารได้
  7. โรคเหงือกอักเสบและโรคปริทันต์ เหงือกอักเสบเนื่องจากมีหินปูน มีการทำลายอวัยวะรอบรากฟัน เหงือกอ้าออกจากตัวฟัน ทำให้มีเศษอาหารเข้าไปสะสมได้ง่ายขึ้นและแปรงออกไม่หมดจนเกิดเป็นหินปูนอยู่ภายใน แล้วทำให้เกิดการอักเสบ ในรายที่เหงือกอ้าออกมากและมีหินปูนเข้าไปสะสมอยู่มากก็อาจจะต้องผ่าตัดเปิดเหงือกออกเพื่อกำจัดหินปูนออกให้หมดก่อน แล้วจึงปิดเหงือกกลับเข้าไปตามเดิม สำหรับผู้ที่เป็นและเคยรักษาโรคปริทันต์มาแล้ว หรือขจัดคราบอาหารออกได้หมด ก็ต้องใช้เครื่องมือทำความสะอาดเพิ่มเติม เช่น ไหมขัดฟัน แปรงซอกฟัน แผ่นเทปรัดฟัน เป็นต้น
  8. โรคระบบทางเดินหายใจส่วนบน ตั้งแต่จมูก คอ จนถึงหลอดลม เช่น โรคโพรงจมูกอักเสบ หรือ ไซนัสอักเสบ (เกิดจากการมีของเหลวหรือหนองอยู่ในโพรงอากาศของกระดูกใบหน้าซึ่งมีหลายโพรง การอักเสบจนมีหนองจะทำให้เกิดกลิ่นออกมาทางจมูกในขณะหายใจและออกมาทางปากในขณะพูด จึงไม่ควรปล่อยให้ตัวเองเป็นหวัดบ่อย ๆ หรือเป็นนาน ๆ)
  9. มะเร็งที่โพรงจมูก จะทำให้มีกลิ่นเหม็นมากและจะมีหนองไหลออกจากจมูกลงไปในคอเวลาก้มศีรษะ
  10. ต่อมทอนซิลอักเสบ ผู้ที่เจ็บคอขณะที่มีการอักเสบในลำคอหรือต่อมทอนซิลอักเสบเรื้อรังจะทำให้เกิดกลิ่นปากได้ และจะหายไปเมื่อคอหายอักเสบ
  11. นิ่วในต่อมทอนซิล (Tonsil Stone) หากคุณไปพบทันตแพทย์เพื่อตรวจรักษาจนแน่ใจแล้วว่าเหงือกและฟันของคุณไม่มีปัญหา แปรงฟันสะอาดแล้วแต่กลิ่นปากไม่หาย คุณคงต้องไปพบหมอด้านหู คอ จมูก เพื่อใช้เครื่องมือในการตรวจอย่างละเอียด แต่บางครั้งแค่คุณอ้าปากก็อาจเห็นก้อนสีขาว ๆ เหลือง ๆ ติดอยู่ตรงต่อมทอนซิลก็ได้ ซึ่งนั่นไม่ใช่เศษอาหาร แต่เป็นก้อนที่เกิดจากการหมักหมมของน้ำลายผสมกับอาหาร เศษเนื้อตายของต่อมทอนซิล และแบคทีเรียที่ไม่ต้องการอากาศ ที่เป็นตัวสร้างแก๊สไข่เน่ารอบ ๆ ก้อนนิ่ว เมื่อลมหายใจผ่านก้อนนิ่วนี้ออกมา ก็จะส่งกลิ่นเหม็นคลุ้งไปหมด นอกจากนี้นิ่วในต่อมทอนซิลส่วนหนึ่งก็อาจเกิดจากการผ่าตัดต่อมทอนซิลแล้วทำให้เป็นต่อมทอนซิลอักเสบเรื้อรังกันมากขึ้น หรืออาจเกิดจากยาปฏิชีวนะหลายชนิดที่ใช้ในการรักษาต่อมทอนซิลแล้วทำให้น้ำลายในช่องปากน้อยลง เป็นต้น แต่ก็ใช่ว่าทุกคนจะต้องมีนิ่ว ทั้งนี้ต้องขึ้นอยู่กับภูมิต้านทานของแต่ละคนด้วย ซึ่งจากการศึกษาในต่างประเทศนั้นพบว่ากลุ่มประชาชนทั่วไปเป็นนิ่วในต่อมทอนซิลสูงถึง 6% ส่วนในประเทศไทยนั้นยังไม่มีการทำสถิติออกมา แต่เชื่อว่าคนที่เป็นน่าจะมีไม่ต่ำกว่า 4-5 ล้านคน และคุณอาจจะมีนิ่วที่ต่อมทอนซิลจนเกิดกลิ่นปากโดยไม่รู้ตัวก็ได้ โดยให้ลองสังเกตดูว่า คุณมีอาการเหล่านี้หรือไม่ เช่น มีอาการระคายคอ รู้สึกเหมือนมีเสมหะในลำคอบ่อย ๆ ต่อมทอนซิลอักเสบเรื้อรัง หรือถ้าพักผ่อนน้อยหรือไปออกกำลังกายเมื่อไหร่ก็จะมีไข้รุม ๆ ไม่สบายตัว เจ็บคอนิดหน่อยตรงต่อมทอนซิล และอาจมีอาการอ่อนเพลียสุด ๆ เป็นต้น ถ้ามีก็รีบไปพบแพทย์ด่วน ๆ เลยจ้า (ข้อมูลจาก นพ. สรัลชัย เกียรติสุระยานนท์)
  12. โรคระบบทางเดินหายใจส่วนล่าง เช่น ผู้ที่เป็นโรคปอดเรื้อรัง มะเร็งปอด วัณโรคปอด ก็จะมีกลิ่นออกมากับลมหายใจและลมปากได้
  13. โรคระบบทางเดินอาหาร เช่น ภาวะท้องอืด โรคกรดไหลย้อน โรคแผลเรื้อรังในกระเพาะอาหาร
  14. ารรับประทานอาหารที่ทำให้เกิดกลิ่นปาก ก็เป็นอีกหนึ่งสาเหตุสำคัญของกลิ่นปาก เช่น กระเทียม หัวหอม เครื่องเทศ สะตอ ชีส ทุเรียน ฯลฯ ซึ่งเหล่านี้จะทำให้เกิดกลิ่นปากได้ แต่เมื่อถูกย่อยหรือดูดซึมและขับถ่ายออกหมดแล้ว กลิ่นก็จะหายไป (แต่ถ้ารับประทานต่อเนื่องก็จะทำให้เกิดกลิ่นปากอย่างต่อเนื่องได้เช่นกัน)
  15. เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็นเหล้าหรือเบียร์ก็ล้วนแต่เป็นต้นเหตุของกลิ่นปาก
  16. ยาบางชนิด เช่น ยารักษาผู้ป่วยโรคจิตบางตัว ยาที่ใช้รักษาผู้ป่วยพิษสุราเรื้อรัง ก็ทำให้เกิดกลิ่นได้
  17. ผู้ที่สูบบุหรี่นาน ๆ จะทำให้ลมหายใจและลมปากมีกลิ่นเหม็น
  18. ผู้ที่ใส่ฟันปลอมหรือใส่เครื่องมือต่าง ๆ ในปาก เช่น เครื่องมือจัดฟัน เครื่องมือกันฟันล้มเก เฝือกสบฟัน เป็นต้น ถ้าหากรักษาความสะอาดไม่ดีพอก็ทำให้มีกลิ่นได้ โดยเฉพาะเครื่องมือที่ทำด้วยอะคริลิก หรือมีส่วนผสมของอะคริลิกอยู่ด้วย เนื่องจากเนื้ออะคริลิกจะมีรูพรุนที่สามารถดูดซึมของเหลวต่าง ๆ ได้ หากล้างไม่สะอาดอาหารก็จะบูดเน่าติดอยู่กับเครื่องมือเหล่านี้จนทำให้เกิดกลิ่นได้ ดังนั้นควรทำคามสะอาดทุกครั้งหลังจากถอดแล้ว ถ้าไม่ใช้ก็ควรแช่ไว้ในน้ำสะอาด และก่อนนำมาใช้ก็ให้ทำความสะอาดอีกรอบ ถ้ามีคราบหรือหินปูนเกาะก็ให้ใช้น้ำยาสำหรับแช่ฟันปลอมโดยเฉพาะแช่ไว้เป็นครั้งคราว
  19. นอกจากนี้ สาเหตุของกลิ่นปากอาจเกิดได้จากโรคที่เกี่ยวกับระบบการทำงานของร่างกายต่าง ๆ ซึ่งจะเป็นกลิ่นเฉพาะตัวของแต่ละโรค เช่น โรคเบาหวาน การติดเชื้อหรือเป็นฝีที่ปอด ตับหรือไตวาย ความเจ็บป่วยในระบบทางเดินอาหารต่าง ๆ รวมไปถึงผู้ป่วยที่ควบคุมอาหารเป็นประจำ